การประชุม The Joint Coordination Committee (JCC)

การประชุม The Joint Coordination Committee (JCC)

วันที่ 6 กันยายน 2567: สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เข้าร่วมการประชุม The Joint Coordination Committee เพื่อรายงานสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นอันดับ 10 ของโลกในการผลิตรถยนต์ปี 2023 ด้วยจำนวนการผลิตทั้งหมด 1,841,663 คัน โดยอันดับ 1 เป็นประเทศจีน ซึ่งมีจำนวนการผลิต 30.16 ล้านคัน  สำหรับการผลิตรถยนต์ในระดับอาเซียน ประเทศไทยยังคงเป็นผู้นำ ตามด้วยประเทศอินโดนีเซีย  สำหรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปี 2024 เดิมตั้งไว้ที่ 1.9 ล้านคัน ปัจจุบันปรับลดลงเหลือ 1.7 ล้านคัน เนื่องจากยอดขายในประเทศมีแนวโน้มลดลง สาเหตุจากหนี้สินภาคครัวเรือนสูงขึ้น และมาตรการสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น นอกจากนี้ ตัวเลขการส่งออกในช่วงเดือนมกราคม – กรกฎาคม ลดลง 5% เมื่อเทียบกับปี 2023  สำหรับตลาดเอเชียและตะวันออกกลางเป็นตลาดที่ยอดส่งออกรถ ลดลงมากที่สุด คือ -20% และ -6% ตามลำดับ ในขณะที่ตลาดออสเตรเลียเติบโตขึ้น 14% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (xEV) ในปี 2024 มียอดจดทะเบียนในประเทศเพิ่มขึ้น 39% ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ไฮบริด (HEV) สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ยอดจดทะเบียนสะสมถึงเดือนกรกฎาคมมีจำนวน 133,672 คัน

ปัจจุบันมีแบรนด์ BEV กว่า 48 แบรนด์ ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยโดย 45% มาจากประเทศจีน เช่น GWM, BYD, MG, NETA ฯลฯ  ยุโรป/สหรัฐอเมริกา 31%, ญี่ปุ่น 8%, และเกาหลี 4% นอกจากนี้แบรนด์จีนกว่า 8 แบรนด์ ได้เริ่มลงทุนสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นการเติบโตของอุตสาหกรรม EV ส่วนสถานีชาร์จ EV ในประเทศปี 2023 มีจำนวน 2,658 สถานี และมี 9,694 เครื่องชาร์จ ซึ่งแบ่งเป็นการชาร์จแบบธรรมดา (AC) และการชาร์จเร็ว (DC)

มาตรการของภาครัฐไทยในด้านต่างๆ เช่น 1. มาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (NEVC) โดยมุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์สู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงการพิจารณามาตรการสนับสนุนผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี เพื่อให้มีเวลาปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีใหม่  2. มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อลดมลพิษ การบังคับใช้มาตรฐาน Euro 6 สำหรับรถยนต์เบนซินและดีเซล โดยมีระยะเวลาผ่อนผัน 1 ปีสำหรับรถยนต์เบนซิน ส่วนมาตรฐาน Euro 5 สำหรับรถจักรยานยนต์ จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2029

เรื่องอื่นๆ

1. มาตรฐาน NVES (New Vehicle Efficiency Standard) ของประเทศออสเตรเลีย เน้นการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของยานพาหนะใหม่ทั้ง รถยนต์นั่ง (Passenger Vehicle: PV) และรถยนต์พาณิชย์ขนาดเบา (Light Commercial Vehicle: LCV) โดยตั้งเป้าการลดปริมาณ CO2 ของรถยนต์นั่ง จาก 224 g/kmในปี 2025 ให้เหลือ 110 g/kmในปี 2029 และรถยนต์พาณิชย์ขนาดเบาจาก 151 g/km ให้เหลือ 58 g/km ภายในปี 2029 ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ วันที่ 1 มกราคม 2025 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในการส่งออกรถยนต์ไปประเทศออสเตรเลีย คาดว่าราคารถยนต์ในตลาดออสเตรเลียจะปรับเพิ่มขึ้นราว 7-10% (ประมาณ 4,500 AUD) และยอดขายรถยนต์พาณิชย์ขนาดเบาจะลดลง 20-30% ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนและเกาหลีเข้ามาครองตลาดได้มากขึ้น  

2. ความคืบหน้าข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ (FTA) ได้แก่ ไทย – สหภาพยุโรป (TH-EU FTA) กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา คาดว่าจะเสร็จสิ้นการเจรจาภายในปี 2025 ไทยต้องการเปิดตลาดยานยนต์ให้มากกว่าข้อตกลงที่สหภาพยุโรปทำกับเวียดนาม, ไทย – เกาหลีใต้ (TH-KR EPA) เริ่มต้นการเจรจาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2024 คาดว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนจากเกาหลีใต้ได้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (BEV)  ปัจจุบันประเทศไทยมี 15 ข้อตกลงการค้าเสรี กับ 19 ประเทศ รวมถึงข้อตกลงภายในอาเซียน (ASEAN) และข้อตกลงแบบทวิภาคีและพหุภาคีอื่น ๆ อีกด้วย ข้อตกลงเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้า รวมถึงชิ้นส่วนยานยนต์โดยปลอดภาษี (Zero Duties) ในกลุ่มประเทศอาเซียนและบางประเทศตามข้อตกลงการค้าเสรี สำหรับข้อตกลงการค้าเสรีที่อยู่ระหว่างการเจรจาในปี 2024 และคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2025 ได้แก่ อาเซียน-แคนาดา, ไทย-สหภาพยุโรป, ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (TH-EFTA), ไทย-ภูฏาน, ไทย-เกาหลีใต้ ฯลฯ ส่วนข้อตกลงการค้าเสรีใหม่ที่ไทยมีแผนจะเจรจาเพิ่มเติมในอนาคต ได้แก่ ปากีสถาน ตุรกี และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 



Facebook
Email

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ